ประเทศไทยมีแหล่งสารนิเทศสาขาต่างๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แต่ยังมิได้ร่วมมือกันอย่างแท้จริง ไม่มีองค์กรในระดับชาติที่จะส่งเสริมงานพัฒนาระบบสารนิเทศให้มีประสิทธิภาพ คณะกรรมการระบบสารนิเทศวิทยาศาสตร์สากลได้เล็งเห็นความสำคัญในการจัดตั้งระบบสารนิเทศแห่งชาติ

  คณะกรรมการระบบสารนิเทศวิทยาศาสตร์สากลได้ทำการศึกษา และสำรวจแหล่งสารนิเทศ ในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2524 ได้ผลการศึกษาพอสรุปได้ว่า ประเทศไทยมีแหล่งสารนิเทศสาขาต่างๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ยังไม่มีองค์กรในระดับชาติที่จะส่งเสริมงานพัฒนาระบบสารนิเทศให้มีประสิทธิภาพและยังขาดความร่วมมือกันอย่างแท้จริง ขาดการประสานงานระหว่างแหล่งสารสนเทศที่มีอยู่ ทำให้การใช้ทรัพยากรเป็นไปอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ ขาดกำลังทุนในการพัฒนางานเพื่อขยายการให้บริการ ขาดบุคลากรที่มีความชำนาญงานเอกสารสนเทศ บริการที่มีอยู่ยังไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร สารสนเทศที่มีอยู่ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ บางอย่างไม่เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ในประเทศ

  ฉะนั้นเพื่อให้การพัฒนาสารสนเทศของประเทศไทยมีเอกภาพและได้รับการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอโครงการจัดตั้งระบบสารนิเทศแห่งชาติเมื่อ ธันวาคม 2528 และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการและอนุมัติให้ดำเนินการได้เมื่อ ธันวาคม 2529

นโยบายสารนิเทศแห่งชาติ

  นโยบายสารนิเทศแห่งชาติกำหนดว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญแก่สารนิเทศว่าเป็นทรัพยากรสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการพัฒนาประเทศ จะส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมทุกด้านที่เกี่ยวข้องรวมทั้งการฝึกสอนผู้ใช้ระดับต่าง ๆ ให้สามารถนำสารนิเทศไปใช้ในการพัฒนาตนเองและประเทศ ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการและประสานงานระบบสารนิเทศทางวิชาการแห่งชาติได้กำหนดนโยบาย ไว้ดังนี้

  1. ส่งเสริมการใช้แหล่งทรัพยากรสารนิเทศทางวิชาการที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาทางวิชาการ เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แก่บุคคลทุกวัย ทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ ทั้งในเมืองและชนบท

  2. สงวนรักษาทรัพย์สินทางปัญญาที่บันทึกในรูปของสิ่งพิมพ์และสื่ออื่น ๆ ที่มีค่า และหายากไม่ให้ถูกทำลาย และสูญหาย

  3. สร้างกลไกและประสานงานระบบสารนิเทศทางวิชาการระดับชาติ โดย

    • จัดแหล่งกลุ่มสารนิเทศที่มีอยู่แล้วออกเป็นกลุ่มตามสาขาวิชา

    • สร้างฐานข้อมูลและข่ายงานสารนิเทศทางวิชาการ

    • ใช้หลักประหยัด ขจัดความซ้ำซ้อน

    • ส่งเสริมให้เกิดการประสานงานทั้งในด้านบริหาร เทคนิค และบริการ ภายในกลุ่มสารนิเทศสาขาวิชา ระหว่างกลุ่ม ระดับชาติ และนานาชาติ

    • ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในระบบ

    • ส่งเสริมการผลิตบุคลากรสำหรับปฏิบัติงานในข่ายงานส่งเสริมสถานภาพ วุฒิความรู้ และประสบการณ์ของบุคลากรในระบบ

    • สนับสนุนการจัดสรรงบประมาณของแผ่นดิน และจัดหาแหล่งทุนจากภาคเอกชนภายในประเทศจากองค์กรภาครัฐบาล และภาคเอกชนของต่างประเทศ และจากองค์การระหว่างประเทศ

    • เสนอรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดและปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ เพื่อให้เอื้ออำนวยแก่การปฏิบัติงานในระบบ

    • ส่งเสริมให้มีการใช้มาตรฐานสากลที่มีอยู่ และส่งเสริมการสร้างมาตรฐานและคู่มือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสารนิเทศ

    • ส่งเสริมการจัดสร้างระบบเฉพาะเรื่อง และระบบย่อยต่างๆที่จำเป็น เพื่อพัฒนาข่ายงานระดับชาติให้สมบูรณ์

    • ส่งเสริมให้มีการวิจัยและประเมินผล เพื่อพัฒนาระบบและบริการสารนิเทศ

ศูนย์ประสานงานสารนิเทศ

  คณะกรรมการระบบสารนิเทศวิทยาศาสตร์สากล ได้พิจารณาคัดเลือกศูนย์ประสานงานในแต่ละสาขา ดังนี้

  1. ศูนย์ประสานงานสารนิเทศสาขาเกษตรศาสตร์ ผู้รับผิดชอบ ได้แก่ สำนักหอสมุด มหาวิทาลัยเกษตรศาสตร์

  2. ศูนย์ประสานงานสารนิเทศสาขาแพทยศาสตร์ ผู้รับผิดชอบ ได้แก่ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยมหิดล

  3. ศูนย์ประสานงานสารนิเทศสาขามนุษยศาสตร์ ผู้รับผิดชอบ ได้แก่ กองหอสมุดแห่งชาติ

  4. ศูนย์ประสานงานสารนิเทศสาขาวิทยาศาสตร์ ผู้รับผิดชอบ ได้แก่ กองสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ

  5. ศูนย์ประสานงานสารนิเทศสาขาเศรษฐศาสตร์ ผู้รับผิดชอบ ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย

  6. ศูนย์ประสานงานสารนิเทศสาขาสังคมศาสตร์ ผู้รับผิดชอบ ได้แก่สำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

  ในฐานะที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการระบบสารนิเทศวิทยาศาสตร์สากล ให้รับผิดชอบเป็นศูนย์ประสานงานสารนิเทศสาขาเกษตรศาสตร์ สำนักหอสมุดได้กำหนดนโยบายในการดำเนินงานเมื่อ พ.ศ. 2530 ดังนี้

  1. จัดหาและพัฒนาทรัพยากรด้านการเกษตรและสาขาที่เกี่ยวข้อง ให้สมบูรณ์ ครบถ้วน เพื่อให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ

  2. ส่งเสริมการใช้แหล่งสารนิเทศทางวิชาการด้านการเกษตร และสาขาที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

  3. ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างแหล่งสารนิเทศด้านการเกษตรและสาขาที่เกี่ยวข้อง และให้ความร่วมมือกับงานสารนิเทศสาขาอื่นๆ

  4. พัฒนาบุคลากรโดยการจัดฝึกอบรมระยะสั้น สัมมนา หรือบรรยายพิเศษแก่ผู้ปฎิบัติงาน รวมทั้งเสนอความรู้ใหม่ๆต่อผู้ใช้บริการ

  5. ทำหน้าที่เชื่อมโยงแหล่งผลิตสารสนเทศ และผู้ใช้บริการ ในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ โดยนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ